ศูนย์สารนิเทศอีสานสิรินธร  -->

ประวัติและความเป็นมา


ศูนย์สารนิเทศอีสานสิรินธร เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ โดยผู้ที่ริเริ่มจุดประกายแนวคิดและเป็นกำลังสำคัญผลักดัน คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ฉวีลักษณ์ บุณยะกาญจน ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักหอสมุดในขณะนั้นท่านได้มองเห็นคุณค่าและตระหนักถึงความสำคัญของสารสนเทศท้องถิ่น จึงเกิดแนวคิดริเริ่มจัดตั้ง “ศูนย์เอกสารอีสาน” ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางบริการสารสนเทศที่เกี่ยวกับภูมิภาคอีสาน โดยในระยะเริ่มแรกมีผู้มาขอใช้บริการสารสนเทศอีสานที่สำนักวิทยบริการ (เดิมเรียกว่า หอสมุด) ทั้งจากกลุ่มคณะทำงานตามโครงการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ กลุ่มนักวิจัยคณะทำงานการพลังงานแห่งชาติ และกลุ่มนักวิจัยอื่นๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับภูมิภาคอีสานอยู่ในขณะนั้น มักจะติดต่อสอบถามและโทรศัพท์มาถามถึงข้อมูลเกี่ยวกับภาคอีสานอยู่เสมอ คำถามเหล่านี้เมื่อมีจำนวนมากขึ้นทางสำนักวิทยบริการจึงได้เก็บรวบรวมไว้ พร้อมทั้งค้นหาข้อมูลคำตอบจนมีจำนวนข้อมูลอีสานเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้เป็นศูนย์กลางบริการสารสนเทศที่เกี่ยวกับอีสาน

ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้ดำเนินการให้บริการเป็นบริเวณมุมเล็กๆ ในลักษณะของ “งานเอกสารอีสาน” ได้รับความสนใจและมีผู้มาติดต่อขอใช้บริการค้นคว้าทั้งจากนิสิต นักศึกษา อาจารย์ นักวิจัย และประชาชนทั่วไป ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้พัฒนางานเอกสารอีสานเป็น “ศูนย์เอกสารอีสาน” พร้อมทั้งได้ย้าย ศูนย์เอกสารอีสาน ขึ้นไปชั้นสองของอาคารหลังเดิมของสำนักวิทยบริการ ทำให้สถานที่บริการกว้างขวางขึ้นสามารถรองรับผู้มาใช้บริการได้มากขึ้น

ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ เปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์สารนิเทศอีสาน” มีการดำเนินงานที่ชัดเจนขึ้น สามารถรองรับผู้ใช้บริการได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น

วันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้รับพระกรุณาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนามให้ว่า “ศูนย์สารนิเทศอีสานสิรินธร” นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง

วันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดศูนย์สารนิเทศอีสานสิรินธร อย่างเป็นทางการ ยังความปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

...

เกียรติประวัติ





ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ “ศูนย์เอกสารอีสาน” ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี มอบ รางวัลผลงานเพื่อเยาวชนประเภทสื่อชาวบ้าน ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง







ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้เริ่มร่วมมือกับสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริการข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ในเรื่องเกี่ยวกับประเทศไทยโดยเน้นด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนปี พ.ศ. ๒๕๓๑ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมอบประกาศนียบัตร เพื่อเป็นกิตติกรรมประกาศว่า “ศูนย์เอกสารอีสาน” ได้ให้ความร่วมมือ ร่วมใจในการดำเนินงานข่ายงานสนเทศไทยคดี (Thai Studies Information Network – TSINET) อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าด้านอีสานอย่างยิ่ง

เหตุการณ์สำคัญ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น นำความภาคภูมิใจและปลาบปลื้มมายังชาวสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และพสกนิกรชาวอีสานอย่างยิ่ง

สถานที่ตั้ง

ศูนย์สารนิเทศอีสานสิรินธร ตั้งอยู่ ชั้น ๒ อาคารวิทยบริการ A ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม

วัน เวลาให้บริการ

วันจันทร์ – เสาร์ เวลา 8.00 น. - 18.30 น.

วันอาทิตย์ เวลา 10.00 น. - 18.00 น.

วันหยุดนักขัตฤกษ์ ปิดบริการ